ห้องภาพดีเจจ๊ะเอ๋บ้านผือ

รู้จัก สภากรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่อะไรเพื่อคนกรุงเทพฯ ก่อนเลือกตั้ง 22 พ.ค. 65

รู้จัก สภากรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่อะไรเพื่อคนกรุงเทพฯ ก่อนเลือกตั้ง 22 พ.ค. 65


  • รู้หรือไม่ "ส.ก." ทำหน้าที่อะไร เพื่อคนกรุงเทพฯ ก่อนการเลื
    อกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ 22 พ.ค. 65
  • ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร มีทั้งสิ้น 382 คน อายุน้อยที่สุด ได้แก่ เขตลาดกระบัง อายุ 25 ปี และมากที่สุด ได้แก่ เขตราชเทวี อายุ 82 ปี 
  • หน้าที่ของ "สภากรุงเทพมหานคร" ควบคุม ตรวจสอบ และดูแลการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมอำนาจที่มี เหมือนเป็นตัวแทนในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อคนกรุงเทพฯ

เข้าใกล้การเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าไปทุกที ซึ่งนอกจาก ผู้ว่าฯ แล้ว คนกรุงเทพฯ จะได้เลือก สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ในคราวเดียวกัน โดยหลังการปิดรับสมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 50 เขต รวมจำนวน 382 คน โดยสำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก.มากที่สุด ได้แก่ เขตดุสิต และเขตสวนหลวง จำนวน 10 คน สำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก.น้อยที่สุด จำนวน 8 เขต ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ เขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม เขตบางพลัด เขตดินแดง เขตบางซื่อ และเขตคันนายาว โดยมีผู้สมัครจำนวน 6 คน

เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

ผู้สมัคร ส.ก.อายุน้อยที่สุด ได้แก่ เขตลาดกระบัง อายุ 25 ปี และอายุมากที่สุด ได้แก่ เขตราชเทวี อายุ 82 ปี 

อย่างไรก็ตาม หลังปิดรับการสมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการประกาศตัดสิทธิ์ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 3 คน เนื่องจากขาดคุณสมบัติ และเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม 


โครงสร้าง "สภากรุงเทพมหานคร" 

สภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เป็นองค์กรฝ่ายสภาของกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบและดูแลการบริหารราชการกรุงเทพมหานครของฝ่ายบริหารอันมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นหัวหน้าคณะฯ ซึ่งประธานสภากรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน คือ นายคำรณ โกมลศุภกิจ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร, นายกิตติ บุศยพลากร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เป็นรองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่ 1 และพลเอกโกญจนาท จุณณะภาต เป็นรองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่ 2

โครงสร้างการบริหารราชการกรุงเทพมหานครที่สำคัญ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวน 57 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนชาวกรุงเทพมหานครที่มีสิทธิเลือกตั้ง จาก 50 เขต มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานคร อันเป็นตัวแทนภาระหน้าที่รับผิดชอบของสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 11 คณะ ได้แก่

- คณะกรรมการตรวจรายงานการประชุมและพิจารณาเปิดเผยรายงานการประชุมลับ
- คณะกรรมการการศึกษาและวัฒนธรรม
- คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง
- คณะกรรมการการสาธารณสุข
- คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม
- คณะกรรมการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและติดตามงบประมาณ
- คณะกรรมการการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย
- คณะกรรมการการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม
- คณะกรรมการกิจการสภากรุงเทพมหานคร
- คณะกรรมการการจราจร ขนส่ง และการระบายน้ำ
- คณะกรรมการการท่องเที่ยวและการกีฬา

อำนาจหน้าที่ของ "สภากรุงเทพมหานคร"

1. พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรุงเทพมหานคร อาทิ การพิจารณางบประมาณปี 2563 ของกรุงเทพมหานคร และการพิจารณาการจ่ายขาดเงินสะสมกรุงเทพมหานคร จำนวน 8 พันล้านบาทสู้ภัยโควิด

2. เสนอญัตติ ตรวจสอบและติดตามการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้กรุงเทพมหานครดำเนินการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขในด้านต่างๆ อาทิ ขอให้ กทม.จัดระบบจราจรให้มีถนนสายสีแดงเป็นทางด่วนสำหรับรถฉุกเฉิน เห็นชอบให้ กทม.ซื้อเครื่อง AED ติดตั้งในสถานที่ราชการจำนวน 200 เครื่อง เพิ่มจำนวนสถานีดับเพลิงรองรับการขยายตัวเมืองของ กทม.

3. การเป็นกรรมการในคณะกรรมการวิสามัญของสภากรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมและติดตามผลการบริหารงาน หรือพิจารณาสอบสวนเรื่องใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร อาทิ ศึกษาแนวทางให้ กทม.เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City อย่างเป็นรูปธรรม ศึกษารูปแบบการปฏิรูปโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ศึกษาแนวทางจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่น สร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชน

สรุปง่ายๆ "สภากรุงเทพมหานคร" เป็นเหมือนตัวแทนในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อคนกรุงเทพฯ.


ข่าวแนะนำ

 

 

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
ห้องภาพดีเจจ๊ะเอ๋บ้านผือ
ห้องภาพดีเจจ๊ะเอ๋บ้านผือ
ห้องภาพดีเจจ๊ะเอ๋บ้านผือ